- กิจกรรม การเสริมทักษะการสะกดคำและการออกเสียงด้วยโฟนิคส์ (Phonics) และตารางเทียบอักษรอังกฤษ-ไทย
- รายละเอียด ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้นว่า จากคะแนนที่ทดสอบด้วยข้อสอบ Diagnostic Test 1 ในครั้งแรก พบว่าร้อยละ 50 ยังไม่สามารถเขียนตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษ (A-Z) ทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก และเขียนสะกดจำนวน 1-10 เป็นภาษาอังกฤษ ได้อย่างถูกต้อง จึงได้นำหลักการโฟนิคส์ การออกเสียงด้วยโฟนิกส์ (Phonics) และตารางเทียบอักษรอังกฤษ-ไทย มาเสริมในช่วงต้นภาคเรียน โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้
- ปกตินักเรียนก็จะรู้สึกว่าตัวเองอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ครูจึงทะลายกำแพงด้วยการนำสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคยมาเป็นตัวเปิด และเป็นการฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยง โดยนำเอาชื่อแบรนด์ต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของนักเรียนมาเป็นสื่อ ให้นักเรียนลองอ่าน
- ให้นักเรียนตีตารางลงในสมุดแบ่งเป็น 3 ช่อง คือ ตัวอักษร A-Z ช่องที่สองคือ เสียงตัวอักษร และช่องสุดท้ายคือตัวอย่างคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรดังกล่าว จากนั้นจะเปิดเพลงโฟนิกส์ให้นักเรียนเติมเสียงอักษรที่ได้ยิน เช่น A ออกเสียง “แอะ” ตัวอย่างคำเช่น “apple”
- จากนั้นครูจะแนะนำการใช้ตารางเทียบตัวอักษรอังกฤษ-ไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยง
สอดคล้องกับเสียงโฟนิคส์ โดยไม่ได้เน้นให้ท่องจำ แต่ให้สังเกตและฝึกใช้บ่อยๆ - แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม แล้วให้นักเรียนลองช่วยกันสะกดชื่อภาษาไทยด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ และลองอ่านชื่อไทยที่สะกดเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้วแข่งกัน
- จากนั้นจึงให้ทำแบบฝึกหัดเป็นรายบุคคล โดยมีทั้งสะกดชื่อจังหวัด และชื่อบุคคล
Powerpoint ที่ใช้ในการสอนตามลิงค์นี้ และ VDO Clip (เฟ้นหาเพลงที่ไม่ช้าเกินไป และภาพฮาที่สุดแล้ว)
- อุปสรรคและวิธีแก้ไข
- นักเรียนมีพื้นฐานแตกต่างกัน คนที่มีพื้นฐานดีสามารถสะกดคำได้อย่างรวดเร็ว เวลาให้ตอบเป็นกลุ่มจึงมักจะเป็นผู้ตอบ ทำให้เพื่อนที่พื้นฐานอ่อนไม่ทัน เพราะไม่ได้ฝึกฝนจากการมีส่วนร่วมในห้อง
♦ แก้ไขโดย การให้แต่ละกลุ่มสลับตัวแทนในการตอบ หรือใช้เทคนิคการสุ่มทั้งแบบเจาะจงและแบบอาสา สมัครสลับกันไป โดยทำสลากตัวอักษร A-Z ไว้ เมื่อหยิบได้ก็ให้นักเรียนที่มีชื่อขึ้นต้นตรงกับตัวอักษรนั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ตอบ รวมทั้งประเมินจากแบบฝึกหัดรายบุคคล ซึ่งในแบบฝึกหัดจะมีบางข้อที่แต่ละคนจะตอบ
ไม่เหมือนกัน เช่น ให้สะกดชื่อตัวเอง หรือชื่อจังหวัดบ้านเกิด จากนั้นครูให้ feedback และสอนเสริมรายบุคคล
- นักเรียนบางคนลอกการบ้านเพื่อน และยังไม่เข้าใจการสะกด การออกเสียง ซึ่งอาจเนื่องมาจากแบบฝึกหัดที่ครูให้นั้นมีลักษณะรวบรัดมากเกินไป
♦ แก้ไขโดยครูออกแบบแบบฝึกหัดให้มีหลายระดับ เพื่อให้เหมาะกับพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน แต่จะต้องทำให้สนุก น่าสนใจและท้าทายสำหรับผู้เรียน (ซึ่งครูยังไม่ได้ออกแบบให้มีความยากง่ายหลายระดับ เนื่องจากกังวลเรื่องเนื้อหาอื่นที่จำเป็นต้องสอน พวกไวยากรณ์ต่างๆ แต่ก็พยายามทบทวนและสอดแทรกในแต่ละคาบเรียนอยู่เรื่อยๆ)
♦ แก้ไขโดยออกแบบให้สอดแทรกกลมกลืนไปตลอดภาคเรียน ให้แทรกเข้าไปในการจดจำคำศัพท์ต่างๆ
- ผลลัพธ์
ผู้เรียนที่มีพื้นฐานดี และพื้นฐานปานกลางเมื่อติดตามทำการบ้านด้วยตนเอง และท่องศัพท์กับครูอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีพัฒนาการและทักษะการคิดเชื่อมโยงดีขึ้น สามารถออกเสียงสะกดคำศัพท์ใหม่ๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้ รวมทั้งมีหลักช่วยในการจำคำศัพท์ใหม่ๆ ได้เร็วและถาวรขึ้น